โรคอ้วน คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันส่วนเกินมากจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่เกิดจากการกินอาหารมาก และไม่ออกกำลังกาย และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคหลอดเลือดหัวใจ และมะเร็งบางชนิด
โรคอ้วน
การกินอาหารเข้าไปแล้วได้พลังงานมากกว่าที่ใช้ไป ร่างกายจะนำพลังงานส่วนเกินเหล่านี้ไปสะสมในรูปของไขมัน ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น และอ้วนในที่สุด
ภาวะแทรกซ้อนของโรคอ้วน
เพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2, โรคหลอดเลือดหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, มะเร็งบางชนิด (มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้), ภาวะซึมเศร้า, นอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ, โรคข้อเสื่อม และปวดหลัง และอาจสูญเสียความมั่นใจเกี่ยวกับรูปลักษณ์ของตัวเองได้
สาเหตุของโรคอ้วน
การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม และการไม่ออกกำลังกายนั้นเป็นสาเหตุหลัก การกินอาหารมันๆ และหวาน รวมไปถึงการดื่มน้ำที่มีรสชาติหวานนั้นมีพลังงานสูง และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
หากมีน้ำหนักเกินตั้งแต่วัยเด็ก หรือมีคนในครอบครัวอ้วน คุณมักมีแนวโน้มที่จะอ้วนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ และพบว่ามีปัจจัยทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามมีโรคบางอย่างที่ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
การวินิจฉัยโรคอ้วน
สามารถใช้การวัดดัชนีมวลกาย(Body mass index; BMI) ซึ่งคำนวณได้จากการนำน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัมหารด้วยความสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง โดยค่าปกติในคนไทย คือ 18.5-23.0 ดังนั้นหากมีค่ามากกว่า 23 ถือว่ามีน้ำหนักเกินเกณฑ์ โดยหากมีค่าระหว่าง 23 - 24.90: ท้วม, ระหว่าง 25 - 29.90: อ้วน และมากกว่า 30: อ้วนมาก
ทั้งนี้ดัชนีมวลกายจะไม่สามารถใช้ในเด็กเล็ก สตรีตั้งครรภ์ และนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อมากๆ
โดยอีกแนวทางที่ใช้ คือ การวัดรอบเอว โดยหากมีค่ามากกว่าเกณฑ์ถือว่ามีน้ำหนักเกิน ได้แก่ เกณฑ์เส้นรอบเอวของคนเอเชีย(NCEP ATPIII) คือ > 90 ซม.หรือ 36นิ้วในผู้ชาย และ > 80 ซม.หรือ 32 นิ้วในผู้หญิง
การรักษาโรคอ้วน
การดูแลตนเอง – การกินอาหารอย่างเหมาะสม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การรักษาโดยแพทย์ – การรักษาด้วยยา และการผ่าตัด
ที่มา : จาก http://www.bupa.co.th/
|