หมวดหมู่ : Patient Care Team (PCT)
หัวข้อ : ป้องกัน ‘สูงวัย’ พลัดหกล้ม
โดย : admin
อ่าน : 934
อังคาร ที่ 7 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2559
พิมพ์ 

คร.ห่วงไทยเข้าสังคมผู้สูงอายุ แนวโน้มคนแก่หกล้มสูงขึ้น เผย10 ปี หกล้มเสียชีวิตมากกว่า 5,000 คน เหตุความสามารถร่างกายลดลง โรคเรื้อรัง แนะวิธีป้องกัน
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าว “ก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย ใส่ใจพลัดตกหกล้ม” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 10 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะ 10 ปีมานี้ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 2,500,000 คน และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและความเสื่อมตามวัยทำให้มีปัญหาทั้งโรค ไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ดังนั้นผู้สูงอายุที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มจึงมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
สถานการณ์การเสียชีวิตจากการบาดเจ็บในทุกกลุ่มอายุทั่วโลกพบว่า มีการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มมากถึงร้อยละ 14 สำหรับประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มร้อยละ 5 ซึ่งในจำนวนนี้เกือบครึ่งเป็นผู้สูงอายุ โดยอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุสูงกว่าในทุกกลุ่มอายุเป็น 3 เท่า ทั้งนี้ ในระยะเวลา 10 ปี มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มมากถึง 5,190 คน โดยปี พ.ศ. 2557 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม 909 คน
นอกจากนี้ แนวโน้มอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไป อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ในขณะที่กลุ่มอายุ 60-69 ปี และอายุ 70-79 ปี อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในระยะเวลา 7 ปี ซึ่งสาเหตุการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุส่วนใหญ่เกิดจากลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน มากถึงร้อยละ 60.20 มีเพียงร้อยละ 5.80 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันได
นพ.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่เกิดจากตัวผู้สูงอายุ ได้แก่ ร่างกายและความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ มีการรับรู้ที่ช้า มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย สวมใส่รองเท้าและเสื้อผ้าที่ไม่พอดี อีกสาเหตุคือเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นและบันไดลื่นหรือเปียก พื้นต่างระดับ ไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่มีราวจับบริเวณบ้าน บันได และห้องน้ำ โดยการบาดเจ็บหลังการพลัดตกหกล้ม มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น อาการฟกช้ำ แผลถลอก จนถึงขั้นรุนแรง ที่สำคัญ ได้แก่ กระดูกหัก และการบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยเฉพาะกระดูกสะโพกหักมีมากถึงกว่า 3,000 คนต่อปี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง จากความพิการและต้องพึ่งพาผู้อื่น
สำหรับมาตรการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 1.แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นรับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติหกล้มมาก่อน รวมถึงรับคำแนะนำเพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม 2.หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็น การเดิน การทรงตัว และการรับรู้ เช่น การตอบสนองได้ช้าลง หรือหากจะเปลี่ยนอิริยาบถควรเปลี่ยนช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตก 3.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยฝึกการทรงตัวและการออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เน้นการออกกำลังกายที่ช่วยในการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น
4.กรณีที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว กินยาหลายชนิดควรจะรู้ผลข้างเคียงของยาที่ใช้ และควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ 5.การประเมินและปรับสิ่งแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ เช่น ควรอยู่บ้านชั้นเดียว ในกรณีบ้าน 2 ชั้นควรจัดให้ผู้สูงอายุอยู่ชั้นล่าง หมั่นเก็บบ้านให้เป็นระเบียบ ดูแลให้พื้นไม่ลื่น ไม่เปียก มีแสงสว่างเพียงพอ มีราวจับภายในบ้านและห้องน้ำ มีที่นั่งสำหรับอาบน้ำ และใช้โถส้วมแบบนั่งราบ และไม่ควรล็อคประตูขณะใช้ห้องน้ำ ฯลฯ
ทั้งนี้ การป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ต้องเริ่มที่ผู้สูงอายุเอง รวมถึงผู้ดูแลและคนในครอบครัวก็ต้อง ใส่ใจดูแลและสังเกตผู้สูงอายุเสมอ เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม นอกจากนี้ ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนก็ควรร่วมกันสำรวจสิ่งแวดล้อมหรือจุดเสี่ยงในชุมชนและร่วมปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น พื้นทางเดิน ถนน ที่สำคัญควรสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก็ก โยคะ รำมวยจีน การเดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422